กรอบการวิจัย “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้”
ภายใต้แผนงานย่อยรายประเด็น “เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่
ให้พึ่งพาตนเองได้และมีการกระจายรายได้สู่ชุมชน/ท้องถิ่นมากขึ้น”
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
หน่วย บพท. ได้พัฒนาแผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้” ขึ้น โดยวางเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนระดับตำบลแบบมีส่วนร่วมด้วยกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับตำบล โดยใช้ Learning and Innovation Platform (LIP) ของชุมชนผ่านการสร้างนวัตกรชุมชน เพื่อขับเคลื่อนชุมชนเป้าหมาย ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม เครื่องมือ และความรู้ (องค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม) นำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชากรกลุ่มเป้าหมาย อาศัยพลังจากการทำงานของหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำประโยชน์ให้พื้นที่ ทำงานกันเป็นเครือข่ายร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยส่งเสริมชุมชนของกระทรวงอื่นอย่างใกล้ชิด ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของรัฐบาล และสร้างชุมชนที่มีขีดความสามารถในการจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม
เป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนวัตกรชุมชนในท้องถิ่น ให้มีทักษะการจัดการความรู้ การเรียนรู้ รับ ปรับใช้ องค์ความรู้ นวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) ไปใช้ในการจัดการปัญหาสำคัญในชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือสร้างโอกาส/ศักยภาพ (Gain Point) ใหม่ในพื้นที่ ที่นำไปสู่การพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและสังคมท้องถิ่น รวมถึงรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงทั้งในสภาวะปกติและสภาวะวิกฤตให้ฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเกิดปัญหา (Resilience)
ในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 – 2567 หน่วย บพท. ได้สนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมในแผนงาน “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” และกรอบการวิจัยขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เพื่อ boost up ชุมชน ผ่านการขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสมของโครงการวิจัยที่ได้รับสนับสนุนผ่านแพลตฟอร์มชุมชนนวัตกรรม โดยอาศัยการทำงานของหน่วยงานเครือข่ายกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) 39 สถาบัน/หน่วยงาน จากผลการดำเนินงานวิจัยทำให้เกิดชุมชนนวัตกรรมมากถึง 808 ตำบล ครอบคลุม 1,228 ชุมชน กระจายในพื้นที่ทั่วประเทศ 44 จังหวัด 306 อำเภอ เกิดการสร้างนวัตกรชุมชนจำนวน 10,013 คน มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการเพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญของชุมชนจำนวน 1,268 นวัตกรรม/เทคโนโลยี ที่ใช้ยกระดับอัตราการเติบโตของมูลค่าเศรษฐกิจฐานรากและมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาตำบล/ท้องถิ่น โดยผ่าน Learning and Innovation Platform (LIP) เกิดการสร้างระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยี/นวัตกรรมพร้อมใช้ (Technology and Innovation Library) และการสร้างระบบฐานข้อมูลนวัตกรชุมชน